สามเณร ชะตาขาด


เรื่อง สามเณร ชะตาขาด

เรื่องมีว่า พระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวา รับเอาสามเณรติสสะมาอยู่ในการอบรมดูแล ได้ 1 ปี วันหนึ่ง พระสารีบุตรสังเกตเห็นนิมิตบางอย่างที่บอกว่า สามเณร ติสสะจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกเพียง 7 วัน ด้วยเมตตาและความสงสารสามเณร จึงบอกสามเณรให้ทราบว่าสามเณรจะสิ้นชีวิตในอีก 7 วัน พร้อมกับอนุญาตให้สามเณรไปบอกลาสั่งเสียญาติมิตร สามเณรติสสะก็เดินทางไปเพื่อลาญาติพี่น้อง
ในระหว่างที่สามเณรเดินทางกลับไปบ้านญาตินั้น สามเณรได้พบสระน้ำที่น้ำกำลังแห้งขอด มีฝูงปลาติดปลักแห้ง กระเสือกกระสนดิ้นรนรอความตายอยู่ ด้วยความสงสารสามเณรจึงเอาบาตรช้อนตักฝูงปลาทั้งหมด แล้วนำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ ปลาทุกตัวก็รอดชีวิต
สามเณรติสสะเดินทางต่อไป ในช่วงที่ผ่านป่า ได้พบเก้งตัวหนึ่งติดบ่วงแร้วของนายพราน ดิ้นรนเอาชีวิตรอดอยู่ สามเณรมีใจกรุณาสงสารปล่อยเก้งตัวนั้นออกจากแร้ว ให้พ้นจากความตายไปอีกราย สุดท้ายเดินทางไปถึงบ้านญาติ ได้เล่าเรื่องที่จะเกิดกับตนทั้งหมดตามที่พระสารีบุตรบอกมา ญาติทั้งหลายทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็สงสารสามเณร อดกลั้นน้ำตาไม่ไหว ต่างร้องไห้คร่ำครวญ และเฝ้ารอเวลาที่สามเณรจะมรณภาพในวันที่ 7 ตามคำบอก
เมื่อครบกำหนด 7 วัน สามเณรติสสะ กลับไม่มรณภาพตามที่พระสารีบุตรพยากรณ์ไว้ แถมล่วงเลยไปอีกหลายสัปดาห์ก็ยังไม่มรณภาพ สามเณรรู้สึกว่าตนคงไม่ตายแล้ว จึงได้เดินทางกลับไปหาพระสารีบุตรอีก เล่าเรื่องต่างๆที่ตนได้กระทำลงไป เช่น การปล่อยปลาและเก้งในระหว่างทางก่อนถึงบ้านญาติ
พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า ด้วยอานิสงส์การให้ทานชีวิต ปล่อยปลาและสัตว์ที่จะถึงฆาตให้รอดตาย เป็นการประกอบมหากุศลกรรมอันยิ่งใหญ่ ด้วยเดชานุภาพของมหากุศลกรรมนั้น จึงสามารถสืบต่อชีวิตที่กำลังจะขาดไปของสามเณรได้
........................................
เรื่อง สามเณรติสสะ ในส่วนนี้เป็นหลักฐานที่พบจากเอกสารชั้นรองและเป็นเรื่องเล่า ปรำปราสืบๆกันมา เกี่ยวกับตำนานสืบชะตา หรือ อานิสงส์สืบชะตา ที่คนผู้มีชะตาขาด แต่กลับรอดตาย เพราะได้ช่วยชีวิตปลาที่ติดปลักแห้ง และช่วยเก้งที่ติดบ่วงนายพรานให้พ้นจากอันตราย มีชีวิตรอด การทำเช่นนี้ ทางศาสนาเรียกว่า ชีวิตทาน คือการให้ชีวิต
ชาวพุทธไทยคงถือเรื่องนี้เป็นแบบอย่างกระมัง เมื่อผู้ใดทำบุญสะเดาะเคราะห์ จึงมักจะปล่อยปลา และนกให้เป็นอิสระอีกด้วย และการที่พระเกจิอาจารย์บางวัดแนะนำให้ทำบุญด้วยการไถ่ชีวิตโค กระบือ และสัตว์อื่นจากโรงฆ่าสัตว์ ถือว่าได้บุญมาก และเป็นการสืบชะตากำเนิดของตนอีกด้วย
**ข้อคิดจากเรื่องนี้**
การบำเพ็ญชีวิตทานของสามเณรติสสะ เกิดจากการุญจิต และสัตว์เหล่านั้นถึงคราวอับจน หากไม่มีใครช่วยเหลือ ต้องสิ้นชีวิตแน่ๆ แต่ในปัจจุบัน การทำบุญปล่อยนกปล่อยปลาสะเดาะเคราะห์ มักจะทำพอเป็นพิธีเท่านั้น ด้วยนกและปลาเป็นสัตว์ที่ถูกจับมาขังไว้เพื่อการพานิช ขายให้ผู้ใจบุญได้ปล่อย และคนขายก็ไปจับมาขายแล้วขายอีก เวียนเทียนอยู่อย่างนี้ ดูท่าจะไม่เข้าทีนัก ส่วนการทำบุญด้วยการไถ่ชีวิตโค กระบือ หรือสัตว์ที่ถึงฆาตจากโรงฆ่า
ถือว่าได้บุญมาก และเป็นการสืบชะตากำเนิดของตนอีกด้วย ผู้อ่านลองใช้หลักการ และเหตุผลตรองดูนะครับ

ขอบพระคุณที่ติดตาม
นิทานธรรม
----------------------------------------------------------------------------
รวมนิทานและเรื่องเล่าในพุทธศาสนา กดไลท์เพจ
www.facebook.com/Nitandham
ที่มาจาก
http://phil-re4you.blogspot.com/2015/05/blog-post_26.html
ไม่ทราบที่มาของภาพ ผู้เขียนขออนุญาตลงไว้ให้เป็นธรรมทาน
----------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น